กาตาร์เป็นตลาดสำคัญอันดับ 3 ของไทยในตะวันออกกลางรองจากซาอุดิอาระเบียและยูเออี ด้วยมูลค่าการส่งออก กว่า 379 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 อาจจะดูไม่มาก แต่หากพิจารณาการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า กว่าร้อยละ 20 ในขณะที่ประเทศกำลังถูกคว่ำบาตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องบอกว่า ไม่ธรรมดาเช่นกันกาตาร์ ประเทศที่มีทั้งสนามบินที่ใหญ่สุดในภูมิภาค มีสายการบินกาตาร์แอร์เวย์สที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด มีสำนักข่าวอัลจีชีรา ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอาหรับ มีท่าเรือที่ใหญ่ทันสมัย มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงที่สุดในโลก ประชากรทุกคนล้วนมีรายได้อยู่เหนือ เส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) มีอัตราการว่างงาน ต่ำกว่าร้อยละหนึ่ง และที่สำคัญยังเป็นประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าต่างๆ เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะ สินค้าฮาลาล สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงร้านอาหารนานาชาติที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งตลอดเวลา เกือบสองปีที่ผ่านมา กาตาร์ ยังแสดงให้โลกประจักษ์แล้วว่า แม้จะถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจแต่เสถียรภาพของกาตาร์ไม่ได้แย่ลง อย่างที่หลายฝ่ายคาด ตรงกันข้ามกลับดูแข็งแกร่งกว่าเดิม
การประกาศถอนตัวจากการเป็นชาติสมาชิกกลุ่มโอเปค เรียกว่า ปลดพันธนาการจากซาอุดิ-อาระเบียอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เอาเวลาที่จะผลิตน้ำมัน 6 แสนบาร์เรลต่อวันไปทุ่มเทผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งกาตาร์ วางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 110 ล้านตันต่อปี ในปี 2024 จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 77 ล้านตันต่อปี เพื่อปูทางสู่การเป็นประเทศผู้นำการผลิตและ ส่งออกก๊าซของโลกในอนาคต คงไม่ต้องบอกว่า เมื่อถึงวันนั้น จีดีพีของกาตาร์ จะขยายตัวไปอีกมากน้อยเพียงไร ส่วนเรื่องที่ช่องทางลำเลียง เพื่อนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งถูกปิดตาย ทั้งทางบกด้านที่ผ่านซาอุดิอาระเบีย รวมถึงทางน้ำ ที่เคยใช้บริการท่าเรือ Jebel Ali ในเมืองดูไบ กลับไม่ได้สร้างความระคายเคืองใดๆให้กาตาร์ เพราะยังมีประเทศมหามิตรจำนวนไม่น้อย ที่พร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือทั้ง โอมาน ตุรกี รวมถึงอิหร่าน โดยเฉพาะโอมาน ต้องบอกว่าฺรับอานิสงส์เต็มๆ เพราะหลังจากกาตาร์ได้เลือกเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าในโอมานเพิ่มอีก 2 เส้นทางคือ ท่าเรือโซฮาร์และซาลาลาห์ ยิ่งช่วยดันตัวเลขการส่งออกจากโอมาน ไปกาตาร์ เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 400% ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม เมื่อปีที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สถานะการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ในอีกสามปีข้างหน้าของกาตาร์ ยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน นอกจากการเร่งสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ต้องใช้ในการเตรียมความพร้อมต่างๆ จนกลายเป็นโอกาสทองฝังเพชรของผู้ส่งออกทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพียงแต่ต้องศึกษาเส้นทางการนำเข้าให้ดี เช่น การนำเข้าผ่านโอมาน เพื่อส่งออกต่อไปกาตาร์อีกทอดหนึ่ง
สำหรับผู้ประกอบการไทย กาตาร์ถือว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะสินค้าไทยในสายตาของคนกาตาร์มองว่า เป็นสินค้าคุณภาพ มีมาตรฐานระดับสากล ยิ่งปัจจุบันเครื่องหมายฮาลาลของไทยได้รับการยอมรับในกาตาร์ด้วยแล้ว ทำให้โอกาสที่ไทยจะส่งสินค้าเข้าไปขยายตลาด จึงมีความเป็นไปได้สูงขึ้น
อนึ่ง กลุ่มสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปกาตาร์มากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้าประมง ปลา ข้าวและผลไม้กระป๋องและแปรรูป
Photo by Kamal Darwish on Unsplash
——————————————————————————————————————–
ข้อมูลจำเพาะ
สภาพภูมิศาสตร์
รัฐกาตาร์ (State of Qatar) เป็น แหลมยื่นจากชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร อาระเบียออกไปในอ่าวเปอร์เซีย มีพื้นที่ 11,700 ตารางกิโลเมตร (ใกล้เคียงกับจังหวัด เชียงราย หรืออุดรธานี) ทิศใต้ติดกับประเทศ ซาอุดิอาระเบีย นอกชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นประเทศบาห์เรน (ซึ่งมีสภาพเป็นเกาะ) สภาพทั่วไป เป็นพื้นที่ราบประกอบด้วยทรายและ เกลือเป็นส่วนใหญ่
ภูมิอากาศ
มี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนระหว่างเดือน เมษายน – ตุลาคม อุณหภูมิประมาณ 40 – 50 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว ตั้งแต่พฤศจิกายน – มีนาคม อุณหภูมิประมาณ 15 – 20 องศา เซลเซียส
เมืองหลวง
กรุงโดฮา เมืองสําคัญ เมือง Al-Rayyan เมือง Al Wakrah เมือง Al Khor เมือง Dukhan เมือง Al Shamal เมือง Mesaieed เมือง Ras Lafan
ประชากร
2.639 ล้านคน(ปี 2560)เป็นผู้ที่มีสัญชาติกาตาร์ประมาณ 2-3 แสนคน ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชาวต่างชาติ ประกอบด้วยชาวอาหรับ ชาวอินเดีย ชาวปากีสถาน ชาวอิหร่าน ฯลฯ ร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในกรุงโดฮา และ ร้อยละ 75 เป็นชาย
ภาษา
ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ และมีการ ใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลายเป็นภาษาที่สอง
ศาสนา
ส่วนใหญ่นับถือ ศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
หน่วยเงินตรา
กาตาร์ริยาล (Qatar Riyal)
อัตราแลกเปลี่ยน
1 กาตาร์ริยาล เท่ากับ 8.75 บาท โดยประมาณ
การปกครอง
สมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีเจ้าผู้ครองรัฐ(Emir) เป็นพระประมุขปกครองรัฐ
ธงชาติ
สีแดงมารูน และสีขาว โดยพื้นธง ส่วนใหญ่เป็นสีแดงมารูน (หมายถึงการนองเลือด ระหว่างสงครามที่ประเทศเคยประสบมา) ส่วน สีขาว (หมายถึงสันติภาพ) เป็นแถบอยู่ทางด้าน เสาธง โดยมีเส้นหยักฟันเลื่อย จำนวน 9 หยัก คั่นระหว่างสีทั้งสอง (แสดงถึงการที่กาตาร์เป็น ประเทศอ่าวอาหรับลำดับที่ 9 ที่ได้รับอิสรภาพ จากอังกฤษ)
ชั่วโมงทํางาน
ภาครัฐ ระหว่าง 07.00 – 14.00 น. / ภาคเอกชน 08.00 – 12.00 น. และ 15.30 – 21.30 น.
วันหยุด
ภาครัฐ – วันศุกร์ และวันเสาร์ / ภาคเอกชน วันศุกร์ และบางแห่ง หยุดวันพฤหัสบดี
เวลาท้องถิ่น
GMT+3 (ช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง)
Leave a Reply