เพราะ…MENA เป็นกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 9 เท่า หากนับแต่เฉพาะ 14 ประเทศใน Middle East กลับมีตลาดการค้าที่มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้าน USD เมื่อเทียบกับ 2.8 ล้านล้าน USD ของตลาดอาเซียนแล้ว ต้องบอกว่า ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเท่าไรจริงๆ


แต่ MENA ยังมีความน่าสนใจมากกว่านั้น เราลองมาไล่เรียงกันดูว่า กลุ่มประเทศที่มีพื้นที่เชื่อมติดต่อกันจากเอเชียสู่แอฟริกาแห่งนี้มีโอกาสและความน่าสนใจอย่างไร?

โอกาสจากกำลังซื้อทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  
ในเชิงปริมาณ ประชากร กลุ่มประเทศ MENA อ้างอิงตัวเลขล่าสุด 30 มิถุนายน 2020 เพิ่มเป็นกว่า 470 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น..เพิ่มขึ้น..แล้ว ก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดของ MENA และร้อยละ 90 ของกลุ่ม GCC นับถืออิสลาม ศาสนาที่มีการขยายตัวสูงสุดในโลก จากการคาดการณ์ของ Pew Research Center สหรัฐอเมริกา ระบุว่า อีก 10 ปีข้างหน้า(ปี 2030)… จำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มสูงถึงกว่า 2.2 พันล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 26.4 โดยกว่าร้อยละ 15.2 หรือประมาณ 330 ล้านคนอยู่ใน MENA 


นอกจากนั้น หากพิจารณาจากเกณฑ์เฉลี่ยอายุประชากรของ MENA ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยแรงงานโดยมีเกณฑ์ช่วงอายุเฉลี่ย 25 ปี สำหรับประชากรที่เป็นมุสลิม และช่วงอายุเฉลี่ย 30 ปี สำหรับประชากรที่เป็นคนต่างศาสนิก ซึ่งช่วงวัยดังกล่าว คือ “กำลังซื้อที่สำคัญ” ทั้งในปัจจุบันและอนาคต



ในเชิงคุณภาพ ดังที่ทราบกำลังซื้อของMENA ไม่ได้มีดีที่ปริมาณเท่านั้น แต่ยังมากล้นด้วยคุณภาพ โดยเฉพาะกำลังซื้อจาก 6 ประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับที่มี GDP per Capita สูงในระดับต้นๆ ของโลก 

จากตัวเลขทางเศรษฐกิจปี 2019 กาตาร์ มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงถึง 70,779.52 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ยูเออี 40,711.45 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ หรือแม้แต่โอมานที่รั้งท้ายกลุ่ม GCC ยังมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 19,302.21 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ เกือบๆ 3 เท่าของประเทศไทย เลยทีเดียว

โอกาสจากภาวะความมั่นคงอาหารต่ำ 
แม้จะมีศักยภาพสูงเพียงใด แต่ MENA กลับเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายขาดแคลนแหล่งน้ำ จึงไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะ ประเทศในกลุ่ม GCC ที่มีรายได้จากเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 1.1 ของรายได้รวมทั้งหมด ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอาหาร จากรายงานขององค์กรพัฒนาเกษตรกรรมอาหรับ (AOAD) พบว่า เมื่อเทียบกับประเทศอาหรับทั้งหมด ประเทศกลุ่ม GCC มีช่องว่างทางอาหารสูงกว่าประเทศอื่นๆ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีอัตราช่องว่างทางอาหารเฉลี่ยสูง ถึงร้อยละ 20.94 รองลงมาคือ ยูเออีร้อยละ 14.42 คูเวตร้อยละ 3.59 กาตาร์ร้อยละ 3.25 โอมานร้อยละ 3.25 และบาห์เรนร้อยละ 1.6 จากการคาดการณ์ของธนาคารโลก ปี 2030 นี้ มูลค่าตลาดอาหาร ใน MENA จะขยายตัวสูง ถึง 1 ล้านล้าน USD


โอกาสจากการเป็น “ฮับของการซื้อมา-ขายไป”
นายอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ ประธานสภานักธุรกิจไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ให้ทัศนะอย่างสนใจว่า “กลุ่ม GCC เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าสู่ทวีปยุโรป แอฟริกาและอเมริกา มีเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ซึ่งปลอดภาษีนำเข้าส่งออกและไม่จำกัดโควต้าการนำเข้าอีกทั้งเทรนด์ของกลุ่มประเทศGCC ในปี 2020 ได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นฮับของการซื้อมา-ขายไป” 


เนื่องจากตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การค้าสำคัญแห่งหนึ่งของโลกเพราะมีทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพเป็น”ศูนย์กลาง”สามารถกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคข้างเคียงในระยะทางที่”ได้เปรียบ”ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกไป ยุโรป เอเชียหรือ สหรัฐอเมริกา จากการคาดการณ์ ของ The Economist Intelligence Unit พบว่า ปี 2020 จะมีการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะอาหารผ่านเข้าสู่ กลุ่มประเทศ GCC ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศที่สาม มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 พันล้าน USD


แน่นอนว่า ไม่เฉพาะแต่ตะวันออกกลางเท่านั้นที่มีศักยภาพด้านการค้า การลงทุนรวมถึงการ กระจายสินค้า บางประเทศในแอฟริกาเหนืออย่างโมร็อกโกหรืออิยิปต์ก็เร่งพัฒนาตัวเองจนมีความพร้อมที่เป็นเสมือน”Gateway”ของภูมิภาคแอฟริกาสู่ยุโรปและภูมิภาคอื่นทั่วโลก ดังนั้น การนำเข้าสินค้าของกลุ่ม MENA จึงไม่ได้ถูกสงวนไว้เพื่อการบริโภคภายในภูมิภาคเท่า นั้น แต่ยังรวมไปยังการเป็น Hub ของการ Re-Export ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย 


โอกาสจาก Positioning สินค้าไทย
สินค้าไทยหลายประเภทได้รับความนิยมอย่างสูงในMENA โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ หลังจากที่ มีการเริ่มประชาสัมพันธ์สินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง ตามงานแสดงสินค้ารวมถึง อีกไม่น้อยที่มาจากการบอกต่อ ของบรรดา Medical Tourist ที่มารักษาตัวในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่สุด สินค้าไทยถูกวาง Position ว่ามีคุณภาพอยู่ตรงกลางระหว่างสินค้าจากยุโรปและจีนสอด คล้องกับสถานะ และรายได้ของคนใน MENA เนื่องจากหลายๆ ประเทศมีประชากรกลุ่ม Middle Classสูงสุด ทำให้สินค้าไทย  ซึ่งมีคุณภาพและระดับราคาที่เหมาะสม จึงกลาย  เป็นที่ต้องการ


 ” สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับและมีแนวโน้มความต้องการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเราอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่า กึ่งกลางของปิรามิด คุณภาพและราคาสูงกว่าสินค้าจีนแต่ยังไม่เทียบเท่าจากยุโรป คนตะวันออกกลาง เชื่อมั่นสินค้าไทย อะไรที่มาจากไทย เขาจะเปิดใจฟัง และเชื่อใจ เกิน 50% สินค้าหลายอย่าง มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเช่น สินค้าออร์แกนิกต่างๆ ทั้งเครื่องสำอาง ผลไม้ และอาหารเกรดพรีเมียม สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจบริการ ด้านความงาม สปาสีขาว ที่เน้น ทั้งผ่อนคลายและบำบัดโรค เสื้อผ้าสำเร็จรูป ของใช้สำหรับแม่และเด็ก ของตกแต่งบ้านวัสดุก่อสร้าง ร้านอาหาร เป็นต้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการและสินค้าไทยที่จะขยายตลาดไปที่นั่น”

นายอัครวุฒิกล่าว.

—————————————————————————————————————————————-

 

 

ภาพประกอบ / Photo by Mukund Nair on Unsplash , NASA World Wind , www.omanobserver.om ,olarn weranond

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *