คำตอบคือ โอมาน – OMAN
หลายท่านอาจจะงงว่า ทำไมถึงเป็น โอมาน ไม่ใช่ ดูไบ
จริงอยู่….ที่กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ดูไบ ประเทศยูเออี มีบทบาทอย่างยิ่งยวด ในการเป็นศูนย์กลางการค้าและจุดส่งออกต่อ (re-export)สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ด้วยข้อกำหนดทางภาษีที่เอื้ออำนวยคือสินค้านำเข้าชั่วคราวเพื่อส่งออกต่อภายใน 6 เดือนโดยไม่ต้องเสียภาษีทำให้เมืองเศรษฐกิจแห่งนี้ กลายเป็นเมืองที่แออัด มีค่าครองชีพสูงมาก
ปัจจุบันหลายประเทศใน GCC มีความพยายามที่จะพัฒนาความพร้อมเพื่อผลักดันตัวเองเป็น Gateway สู่ภูมิภาคแห่งใหม่เพื่อเป็นตัวตายตัวแทนดูไบ
กาตาร์ ว่าที่เจ้าภาพบอกโลกในอีก 3 ปีข้างหน้าที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูง ที่สุดใน GCC สามารถส่งออกต่อไปอิหร่าน ที่มีประชากรกว่า 81 ล้านคน ซึ่งกำลังเดือดร้อนจากการถูกแซงก์ชั่นจากสหรัฐอเมริกา และชาติอาหรับอื่น
บาห์เรน ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเสรี ต่างชาติสามารถลงทุนเป็นเจ้าของกิจการได้ 100% ปลอดภาษีและได้อานิสงส์จากกำลังซื้อของชาวซาอุฯที่นิยมขับรถมาพักผ่อน จับจ่ายในวันหยุดสุดสัปดาห์เพราะอยู่ห่างเพียง 28 กม.
แล้วอะไรคือ ปัจจัยที่ทำให้ โอมาน มีความน่าสนใจ Mena Halal Life มีคำตอบ
โอมาน หรือชื่อทางการ รัฐสุลต่านโอมาน(The Sultanate of Oman) ประเทศที่เคยได้ชื่อว่า จนที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอ่าวอาหรับด้วยกัน แต่หลังจากสุลต่านองค์ปัจจุบัน กอร์บูส บิน ซาอิด เข้ามาบริหารประเทศ ทรงกำหนดแผนการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องเพียง 48 ปีโอมานเปลี่ยนสถานะจากประเทศเคยจนมาเป็นประเทศที่มีสวัสดิการรัฐที่ดีที่สุดในโลก
โอมานมีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เป็นสินค้าส่งออกหลักที่ได้ชื่อว่า เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะไม่มากมายเหมือนประเทศ ในกลุ่มอ่าวอาหรับอื่น แต่เพราะ รายได้เยอะมีคนน้อย ส่งผลให้โอมานกลายเป็นหนึ่งประเทศมั่งคั่งแห่งคาบสมุทรอาหรับ ประเทศหนึ่ง
ทำไมต้องเป็นโอมาน?
ดร.นรา อิลาชาน กรรมการผู้จัดการ Vplus Expert นักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์ด้านการ ส่งออกและนำเข้าสินค้าใน GCC มากว่า 20 ปี สรุปจุดเด่นของโอมานมาจากสี่ปัจจัยด้วยกัน
เป็นปราการด่านแรกสู่ GCC ด้วยภูมิศาสตร์ของโอมาน ตั้งอยู่นอกอ่าวอาหรับ ก่อนเข้าช่องแคบ Hormuz จึงกลายเป็นประเทศแรกที่ใครจะไป GCC ต้องผ่านอีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากแอฟริกาเหนือ จึงเหมาะอย่างยิ่ง ที่จะเป็น “ฮับ” เชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออก กลาง แอฟริกา ยุโรป รัสเซีย และอเมริกา
การสนับสนุนจากรัฐ โอมานมีการสนับสนุนที่ดีจากรัฐทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมต่างๆ การกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการร่วมลงทุนกับ กาตาร์ สร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่ Salalah นอกจากนั้น โอมานยังมีเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เมื่อลงทุนในโอมานแล้ว สามารถส่งออกไปยังอเมริกาหรือยุโรปได้
จำนวนประชากร ไม่เพียงจำนวนประชากรที่เป็นคนพื้นถิ่นและชาวต่างชาติที่มีอยู่ 4.6 ล้านคน โอมาน ยังมีเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อย่าง Salalah ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “โอเอซิสของตะวันออกกลาง” สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละ 7-8 ล้านคน ส่งผลบวกต่อความต้อง การสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว
เสถียรภาพทางการเมืองโอมานเป็นประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น กับกลุ่มประเทศมุสลิมโดยเฉพาะ ในกลุ่ม GCC รวมถึง ยังมีความเป็นมิตรกับประเทศอื่นๆ จนได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศที่มีเสถียรภาพ ท่ามกลางภูมิภาคที่ไร้เสถียรภาพ”
สำหรับโอกาสของสินค้าไทยในโอมานนั้น ดร.นรา มองว่า “ทุกอย่างที่มีความเป็นไทย ล้วนเป็นที่ต้องการในโอมาน เขาอยากมีห้างไทยเหมือนที่เขามี Dragon Mall ของจีน เขาชื่นชอบอาหารไทยและผลไม้ไทย อะไรก็ได้ที่เป็นไทย ยิ่งทุกวันนี้เทรนด์ของโลกกำลังเปลี่ยนไป คนที่นั่นเริ่มหันมารักสุขภาพมากขึ้น เขารู้จักและคุ้นเคยสปาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพว่า มาจากไทย จนกลายเป็นภาพจำว่า เอกลักษณ์สินค้าไทย คือ สินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการไทย ต้องพยายามรักษาไว้ เพราะสิ่งนี้ จะทำให้เราไม่มีคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น ในโอมาน หรือประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ”
” โอมานก็เหมือนประเทศอื่นในกลุ่มอ่าวอาหรับ คนที่นั่นเป็นมิตรกับคนไทยมีอัธยาศัยดี สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักคือ การศึกษาวิธีการ กฎระเบียบการนำเข้า การอนุญาตสินค้าแต่ละเภท ที่สำคัญที่สุด ต้องศึกษาคู่ค้าให้ดี โดยเฉพาะใบอนุญาตนำเข้าสินค้า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากเรื่องนี้ทั้งนั้นคู่ค้าบางคนเมื่อเห็นสินค้าไทยราคาไม่แพงก็อยากสั่งซื้อ แต่ปรากฎไม่มีใบอนุญาตนำเข้าสินค้าประเภทนั้น ปัญหาก็ตกกับผู้ประกอบการไทย ยิ่งคนที่นั่น นิยมใช้ Incoterm แบบ CIF มากกว่า FOB เมื่อส่งสินค้าไปไม่มีผู้รับก็ถูกตีกลับ เสียหายกันมากดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรตรวจสอบคู่ค้าก่อน บางท่านถามว่า ที่นั่นเปิด LC ไหม ตอบเลยว่า ทำได้ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่เคยเปิด LC เลยสักครั้ง ส่วนใหญ่จะใช้ TT มาตลอดจึงต้องอาศัยการรู้จักและไว้เนื้อเชื่อใจกันจริงๆ เท่านั้น” กรรมการผู้จัดการ Vplus Expert ให้ทัศนะส่งท้าย
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยภูมิศาสตร์ที่เปรียบเสมือนปราการด่านแรกสู่กลุ่มประเทศอาหรับ การสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ ความหลากหลายทางธรรมชาติที่หนุนส่งให้เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงสุดก่อเกิดกำลังซื้ออันมหาศาล เสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง ยิ่งผนวกรวมกับความเป็นมิตรและนิยมในสินค้าไทย น่าจะเป็น เหตุผลสนับสนุน ที่เพียงพอว่า ทำไม? โอมานจึงควร เป็น First Region ใน MENA
——————————————————————————————————————–
ข้อมูลจำเพาะ
ที่ตั้ง
โอมานมีพื้นที่ประมาณ 309,500 ตร.กม. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคาบสมุทร
อาระเบียติดกับทะเลอาระเบียและอ่าวโอมาน ใกล้กับช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็น
ปากทาง เข้าสู่อ่าวอาหรับ มีพรมแดนด้านทิศตะวันเฉียงเหนือติดยูเออี ตะวันตก
ติดกับซาอุดิอาระเบียและทางตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับเยเมน
ประชากร
4.636 ล้านคน(รวมชาวต่างชาติในโอมาน) ส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับร้อยละ 88
เชื้อชาติอิหร่านและอินเดีย กว่าร้อยละ 82 นับถือศาสนาอิสลามสำนัก Ibadhi
มีความหนาแน่น 13 คน/ตร.กม.
การปกครอง
ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีสุลต่านเป็นประมุข
เมืองหลวง
กรุงมัสกัต (Mascat) มีประชากร 1.72 ล้านคน
ภูมิอากาศ
มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่าง เม.ย.-ต.ค (อุณหภูมิ 31-47 องศาเซลเซียส) กับ
ฤดูหนาว ระหว่าง พ.ย.-มี.ค.(อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส) ยกเว้น ภาคใต้
ของประเทศ จะมีภูมิอากาศแบบมรสุม มีฝนตกเป็นประจำช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.
ภูมิประเทศ
ร้อยละ 82 เป็นทะเลทราย ร้อยละ 15 เป็นเทือกเขา และอีกร้อยละ 3 เป็นที่ราบ
ชายฝั่งทะเล โดยมีชายฝั่งทะเลยาว 2,092 กม.
ภาษาราชการ
ภาษาอาหรับ
GDP รวม
72.64 พันล้าน USD
GDP per capita
15.668.37 USD
สกุลเงิน
Rial Omani (OMR) 1 เรียล เท่ากับ 81.52 บาท
การติดต่อธุรกิจ
สำหรับนักธุรกิจที่จะติดต่อกับชาวโอมาน ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงฤดูร้อน
เพราะชาวโอมานจะหยุดพักร้อนเป็นส่วนใหญ่
วีซ่านักท่องเที่ยว
ชาวไทยสามารถขอวีซ่าได้จากสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ได้ หรือขอวีซ่า
ที่สนามบินกรุงมัสกัต (Visa On Arrival) โดยวีซ่าประเภทนี้เรียกอีกอย่างว่า “No Objection Certificate” (NOC)
วีซ่าสำหรับนักธุรกิจ
กรมตำรวจหรือกรมตรวจคนเข้าเมืองในโอมาน จะเป็นผู้พิจารณาออกให้ วีซ่าประเภท
นี้ให้โดยมีอายุ 30 วัน
วันหยุดและการทำงาน
วันพฤหัส/วันศุกร์ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของโอมาน(เอกชนบางแห่งจะเปิดทำงาน
ในวันพฤหัสบดีในช่วงครึ่งเช้า) ภาคราชการทำงาน ระหว่าง 07.30-14.30 น. ส่วนภาค
เอกชน ทำงานระหว่าง 8.00-14.30 น.จากนั้นจะหยุดพักตอนบ่าย และจะเริ่มอีกครั้งใน
เวลา 17.00-20.00 น. แต่ทั้งนี้บางบริษัทอาจกำหนดช่วงเวลาแตกต่างกันไป
ข้อควรรู้
- เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับจึงมีการห้ามการผลิตสุราในประเทศ
ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่มุสลิม จะนำเข้าจากต่างประเทศจะได้ ในอัตรา 1 ลิตร/คน - การดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
- การแต่งกาย ชาวโอมานจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ ชาวต่างชาติ จึงไม่ควร
แต่งกายไม่สุภาพ เช่น นุ่งกางเกงขาสั้น - เวลาเข้าชมมัสยิด สตรีต่างชาติต้องคลุมศีรษะ
- ในเดือนรอมฎอน ประชาชนชาวโอมาน จะอดอาหารตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจน
ดวงอาทิตย์ตกเป็นเวลา 1 เดือนซึ่งถือเป็นกฎหมายชาวต่างชาติควรเคารพด้วย - ในการแนะนำตัวหรือทักทาย คนโอมานจะใช้การจับมือแบบตะวันตก แต่ไม่นิยม
จับมือกับเพศตรงข้าม - ควรปฏิบัติต่อสตรีมุสลิมชาวพื้นเมืองอย่างให้เกียรติและระมัดระวัง เช่นไม่ควร
จ้องมองเป็นเวลานาน - ไม่ควรถ่ายรูปคนพื้นเมืองโดยไม่ขออนุญาติก่อน อย่างไรก็ดีการถ่ายรูปสามารถ
ทำได้โดยทั่วไป ยกเว้นสถานที่หวงห้ามบางแห่ง เช่น ค่ายทหาร หรือภายใน
บริเวณสนามบิน
Photo by Adrian Radion on Unsplash , Photo by Katerina Kerdi on Unsplash , Image by 680451 on Pixabay Photo by Kurt Cotoaga on Unsplash Image by sharonang on Pixabay
Leave a Reply