มีทีท่าว่า จะยืดเยื้อไปอีกยาว สำหรับเทรดวอร์ สองมหาอำนาจโลก “จีน-อเมริกา” ทำเอาผู้ประกอบการส่งออกไทยปาดเหงื่อกันไปตามๆ กัน จริงดังคาด เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2562(ม.ค.-ส.ค.)อยู่ที่ 166,090.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลงจากปีก่อนหน้าถึง 2.19% แน่นอนว่า กำลังซื้อจากประเทศในยุโรปลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทไทย แข็งค่าค่อนข้างมาก ส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
การแสวงหาตลาดใหม่สำหรับการส่งออก กลายเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่เพียงแต่เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ หากแต่ยังเป็นก้าวสำคัญของการ “เปลี่ยนวิกฤต สู่โอกาส” ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้สั่งการให้เร่งขยายตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(Middle East & North Africa :MENA) บางประเทศ อาทิ จอร์แดน กาตาร์ บาห์เรน คูเวต นอกเหนือจากตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV มณฑลเมืองรองของจีนและอินเดีย เพื่อมาทดแทนกับตลาดเก่าที่เป็นคู่ค้ากับไทยยาวนาน ทั้งญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป, อาเซียน, เอเชียใต้และจีน ที่ยอดคำสั่งซื้อลดลง
หลายคนทราบดีว่า ตลาดการค้ากลุ่มประเทศ MENA เป็นตลาดที่น่าสนใจ จากกำลังซื้อของคนกว่า 470 กว่าล้านคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศ GCC ที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวในระดับสูงจากการส่งออกทรัพยากรใต้ดินอย่างน้ำมันดิบ แต่จากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2561 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ซึ่งต่ำกว่าปี 2555 เกือบร้อยละ 40 ทำให้หลายท่าน เกิดความลังเลใจในศักยภาพของกลุ่มประเทศ GCC ว่าหลังจากเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมันดังกล่าว จะยังเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยอยู่หรือไม่
Mena Halal Life เรามีตัวเลขทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ GCC มาฝาก
ในปี 2562 นี้มีการคาดหมายว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความตึงเครียดที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ของช่องแคบฮอร์มุซระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน รวมทั้งการรวมตัวกันระหว่างประเทศในกลุ่ม OPEC และชาติพันธมิตร พร้อมใจกันลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ซึ่งจากสองปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงถึง 1.2 ล้านบาเรลต่อวัน
แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันดิบจะไม่สูงเท่ากับเมื่อ 6 ปีก่อนหน้าที่มีราคาราว 112 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล แต่ความร่ำรวยของประชากรในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ในช่วงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบร้อยละ 2 ต่อปี โดยในปี 2562 นี้ กาตาร์ แม้จะถูกบอยคอตประเทศเพื่อนบ้านมากว่า 2 ปี แต่กลับมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร สูงที่สุดถึง 70,780 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ 40,711 ดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยคูเวต 30,839 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศตลอดทั้งปี 2562 จะขยายตัวราวร้อยละ 2.2 ขณะที่ทางซาอุดิอาระเบียมีการคาดการณ์ว่า จะมีการขยายตัว ร้อยละ 2 ต่อปีเช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หลายประเทศใน GCC เริ่มมีนโยบายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 5 ตามข้อตกลงของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับปี 2559 เกี่ยวกับการเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศสมาชิก GCC เริ่มจากซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงต้นปี 2561 รวมถึงบาห์เรนในต้นปี 2562 เพื่อลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณหลังจากที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงในปี 2557 แล้ว สิ่งที่ช่วยรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม GCC ดังกล่าว คือ เศรษฐกิจนอกภาคน้ำมันที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลของหลายประเทศในกลุ่ม GCC ได้เริ่มส่งเสริมการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่มิใช่น้ำมันของประเทศมาอย่างต่อเนื่องในตลอดหลายขวบปีที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินค้าส่งออกเพียงอย่างเดียว เป็นต้นว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงาน World Expo ที่จะจัดขึ้นในปี 2563 ส่วนกาตาร์ก็ได้ลงทุนมหาศาล ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ในอีก 3 ข้างหน้า โดยเฉพาะการลงทุนสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่มีความจุถึง 86,000 ที่นั่งทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2562 นี้ กลุ่มประเทศ GCC จะการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจที่มิใช่น้ำมัน ร้อยละ 2.9 โดยกาตาร์ขยายตัวสูงที่สุดร้อยละ 5.2 รองลงมาคือโอมานร้อยละ 4.5 และคูเวต ร้อยละ 3 ตามลำดับ
พิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจ แล้วลองชั่งจิตชั่งใจกันดูว่า จะยอมเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจกับตลาดการค้าเก่า หรือจะลอง แสวงหาความท้าทายจากตลาดการค้าใหม่อย่าง GCC คำตอบสุดท้ายอยู่ที่คุณแล้วครับ
ภาพประกอบ : UAE Business Magazine
Leave a Reply