ภาษา เป็นหนึ่งในข้อจำกัดของผู้ประกอบการไทย ที่สนใจตลาด MENA : Middle East & North Africa เช่นเดียวกับเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม แน่นอนว่า เมื่อสินค้าไทย จะข้ามน้ำ ข้ามทะเลไป วางขายในกลุ่มประเทศดังกล่าว บนฉลากจึงจำเป็นต้องมีภาษาอาหรับ เพื่อสะดวกในการสื่อสารกับผู้บริโภค การแปลภาษาเรื่องหนึ่ง แปลเสร็จแล้วเอาไปบนฉลากก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสองขั้นตอนนี้มักจะเป็นปัญหากับผู้ประกอบการไทย แปลมาถูก ตัดคำไม่ถูก ความหมายเปลี่ยน บางที แปลถูก วางตำแหน่งผิด ความหมายก็เปลี่ยนเช่นกัน เพราะภาษาอาหรับจะแตกต่างจากภาษาอังกฤษและภาษาอื่นทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะอ่านจากซ้ายไปขวา หรือหน้าไปหลัง ในขณะที่ภาษาอาหรับ จะอ่านจากขวามาซ้าย หรือหลังกลับมาหน้า ดังนั้นเวลาสิ้นสุดบรรทัด จะต้องเสมอหลังทั้งหมด
เพิ่มเติมไว้เป็นความรู้สำหรับท่านที่สนใจครับ ภาษาอาหรับ เป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกภาษาหนึ่งมีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และยังเป็นภาษาราชการและภาษาหลักในการสื่อสารของกลุ่มประเทศ MENA ทั้งที่มุสลิมและคนต่างศาสนิก ชาวอาหรับทุกคนล้วนมีความรักและภูมิใจในภาษาพวกเขา เพราะถือว่าเป็นภาษาที่ใช้ในคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งพระผู้เป็นเจ้าใช้ในการสื่อสารกับศาสนทูตของพระองค์(ศาสดามูฮัมหมัด) แม้ภาษาอาหรับจะมีมากว่า 1,400 ปี แต่เป็นภาษาไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่จะมีความแตกต่างกันบ้าง ตามสำเนียงของแต่ละภูมิภาค เช่น สำเนียงอียิปต์ ซึ่งเป็นสำเนียงที่คนฟังแล้วเข้าใจกันมากที่สุดสำเนียงมักริบ ซึ่งจะผสมผสานกับภาษาฝรั่งเศส นิยมใช้ในกลุ่มประเทศอาหรับแถบแอฟริกาเหนือ สำเนียงเลอวานต์ ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นสำเนียงที่ชาวอาหรับชื่นชมว่ามีความไพเราะ และสุดท้ายคือสำเนียงอาหรับตะวันออกในประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ
ถามว่า เป็นภาษาเดียวกับภาษาหลักของมาเลเซีย อินโดนีเซียหรือเปล่า ต้องตอบว่า คนละภาษาครับ เพราะภาษาที่ใช้ในสองประเทศเพื่อนบ้านเราจะเป็นภาษามลายู(Bahaza Malayu) ถ้าเป็นมาเลเซียจะเป็นมลายูมาเลเซีย ถ้าเป็นอินโดนีเซียจะเป็นมลายูอินโดนีเซีย ส่วนบาฮาซารีเยา(Riau) จะเป็นภาษาทางการที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไนอีกที ซึ่งภาษามลายูทั้งหมดนี้ จะเป็นการหยิบยืมตัวอักษรของภาษาอาหรับมาใช้ คล้ายๆ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาดอยซ์ที่ใช้ Font ร่วมกันกับภาษาอังกฤษนั่นเอง
Photo by Ananthu Ganesh on Unsplash
Leave a Reply